Month: กันยายน 2022

วางใจในพระนามของพระองค์

ตอนเป็นเด็กมีช่วงเวลาหนึ่งที่ฉันกลัวการไปโรงเรียน พวกเด็กผู้หญิงบางคนรังแกฉันโดยกลั่นแกล้งอย่างโหดร้าย ดังนั้นในช่วงพักฉันจะไปหลบภัยในห้องสมุดซึ่งเป็นที่ที่ฉันได้อ่านหนังสือเรื่องราวของคริสเตียนหลายเล่ม ฉันจำครั้งแรกที่อ่านพระนาม “พระเยซู” ได้ อย่างไรก็ตามฉันได้รู้ว่านี่คือชื่อของคนผู้หนึ่งที่รักฉัน หลายเดือนต่อมา เมื่อใดก็ตามที่ฉันมาโรงเรียนโดยรู้สึกกลัวการทรมานที่รออยู่ตรงหน้า ฉันจะอธิษฐาน “พระเยซู ขอทรงปกป้องฉัน” ฉันรู้สึกเข้มแข็งและสงบมากขึ้นเพราะรู้ว่าพระองค์ทรงเฝ้ามองฉันอยู่ ต่อมาเด็กหญิงพวกนั้นก็เบื่อที่จะรังแกฉันและเลิกไป

หลายปีผ่านไปและการวางใจในพระนามของพระองค์ยังคงช่วยค้ำจุนฉันในยามยากลำบาก การวางใจในพระนามของพระองค์คือการเชื่อว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับพระลักษณะของพระองค์นั้นเป็นความจริง ซึ่งทำให้ฉันได้พักสงบในพระองค์

ดาวิดเองก็รู้ดีถึงความมั่นคงปลอดภัยในการวางใจในพระนามพระเจ้า เมื่อท่านเขียนสดุดีบทที่ 9 ท่านมีประสบการณ์กับพระเจ้าแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ครอบครองสูงสุด ทรงเที่ยงธรรมและสัตย์ซื่อ (ข้อ 7-8, 10, 16) ดาวิดจึงได้แสดงความวางใจในพระนามของพระเจ้าด้วยการเข้าสู้รบกับศัตรูโดยไม่ได้วางใจในอาวุธหรือทักษะทางทหาร แต่วางใจในพระเจ้าผู้ทรงปกป้องท่านเหนืออื่นใดในฐานะที่ทรงเป็น “ที่กำบังเข้มแข็งของคนที่ถูกกดขี่” (ข้อ 9)

เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ฉันร้องออกพระนามพระองค์และได้พบว่าพระองค์ทรงเป็นตามพระนามนั้น ขอให้เราวางใจในพระนามของพระเยซูเสมอ ซึ่งเป็นพระนามของผู้ที่รักเรา

ใจเมตตาเหนือใจขมขื่น

เมื่อตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถล่มในวันที่ 11 กันยายน 2001 เกร็ก โรดริเกซเป็นหนึ่งในเหยื่อที่เสียชีวิตในซากปรักหักพัง ขณะที่ฟิลลิสผู้เป็นแม่และพ่อของเขาเศร้าโศก พวกเขาได้ใคร่ครวญอย่างรอบคอบในการตอบสนองต่อการโจมตีอันน่ากลัวนี้ ในปี 2002 ฟิลลิสพบกับไอช่า เอลวาเฟ่ซึ่งเป็นแม่ของชายคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย ฟิลลิสเล่าว่าเธอ “อ้าแขนออกและเดินเข้าไปหาหญิงคนนั้น เราสวมกอดกันและร้องไห้ ...ไอช่ากับฉันเกิดความผูกพันกันในทันที...เราทั้งคู่ต่างทนทุกข์กับเรื่องราวของลูกชายพวกเรา”

ฟิลลิสพบกับไอช่าในเวลาที่เจ็บปวดและทุกข์โศกร่วมกัน เธอเชื่อว่าความโกรธแค้นต่อการตายของลูกชายอย่างที่ควรจะเป็นนั้น ไม่อาจเยียวยาความปวดร้าวของเธอได้ เมื่อฟังเรื่องราวของครอบครัวไอช่า เธอรู้สึกสงสารและต่อต้านการทดลองที่จะให้มองพวกเขาเป็นศัตรู เธอปรารถนาความยุติธรรม แต่เธอก็เชื่อว่าเราต้องสลัดทิ้งการทดลองที่จะแสวงหาการแก้แค้น ซึ่งมักจะผูก
มัดเราไว้เมื่อเราเป็นผู้ถูกกระทำ

อัครทูตเปาโลแบ่งปันความเชื่อมั่นนี้ โดยเตือนเราว่า “จงให้ใจขมขื่น และใจขัดเคือง และใจโกรธ และการทะเลาะเถียงกัน และการพูดให้ร้าย กับการคิดปองร้ายทุกอย่างอยู่ห่างไกลจากท่านเถิด” (อฟ.4:31) เมื่อเราสละอำนาจของการทำลายล้างเหล่านี้ พระวิญญาณของพระเจ้าก็จะทรงเติมเต็มเราด้วยมุมมองใหม่ เปาโลกล่าวว่า “จงเมตตาต่อกัน มีใจเอ็นดูต่อกัน” (ข้อ 32) เป็นไปได้ที่เราจะแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกในขณะที่ปฏิเสธใจที่โกรธแค้น ขอพระวิญญาณทรงช่วยเราที่จะสำแดงความเมตตาซึ่งมีชัยเหนือใจขมขื่น

ยุคที่ไม่ธรรมดา

แม้จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฐานะคนนอกศาสนา แต่จักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งโรมัน (ค.ศ.272-337) ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปซึ่งทำให้การข่มเหงคริสเตียนยุติลง และพระองค์ยังได้กำหนดปฏิทินที่เราใช้ โดยแบ่งประวัติศาสตร์ทั้งหมดออกเป็นยุค ก.ค.ศ.(ก่อนคริสต์ศักราช) และค.ศ. (คริสต์ศักราช หรือ “ในปีขององค์พระผู้เป็นเจ้า”)

มีการดำเนินการที่จะทำให้ระบบปฏิทินนี้ไม่ขึ้นกับศาสนา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ส.ศ. (สากลศักราช) และก่อนส.ศ. (ก่อนสากลศักราช) บางคนชี้ให้เห็นว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่โลกกีดกันพระเจ้าออกไป

แต่พระเจ้าไม่ได้จากไปไหน ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไรปฏิทินของเราก็ยังคงมีศูนย์กลางอยู่บนความจริงแห่งชีวิตของพระเยซูในโลก

ในพระคัมภีร์นั้นเอสเธอร์เป็นพระธรรมเล่มที่ไม่ธรรมดาตรงที่ไม่มีการกล่าวถึงพระเจ้าอย่างเจาะจง ทว่าเรื่องที่พระธรรมนี้เล่าถึงนั้นเป็นหนึ่งในการช่วยกู้ของพระเจ้า ชาวยิวถูกขับไล่จากบ้านเกิดเมืองนอน มาอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่สนใจพระเจ้า ข้าราชการที่มีอำนาจต้องการทำลายล้างพวกเขาทั้งหมด (อสธ.3:8-9, 12-14) แต่พระเจ้าได้ทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์โดยทางพระราชินีเอสเธอร์และโมรเดคัยญาติของพระนาง เรื่องราวนี้ยังคงมีการเฉลิมฉลองในเทศกาลปูริมจนทุกวันนี้ (9:20-32)

ไม่ว่าโลกจะเลือกตอบสนองต่อพระองค์อย่างไรในเวลานี้ พระเยซูก็ได้ทรงเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง พระองค์ทรงแนะนำให้เรารู้จักกับยุคที่ไม่ธรรมดา คือยุคที่เต็มไปด้วยความหวังและพระสัญญาอย่างแท้จริง ทั้งหมดที่เราต้องทำคือมองไปรอบๆแล้วเราจะได้เห็นพระองค์

พบกันอีกในสวรรค์

ขณะที่กำลังเขียนคำประกาศข่าวมรณกรรมของแม่ ฉันรู้สึกว่าคำว่า ตาย ดูเป็นจุดจบมากเกินไปเมื่อเทียบกับความหวังที่ฉันมีในพระสัญญาที่ว่าเราจะพบกันอีกในสวรรค์ ดังนั้นฉันจึงเขียนว่า “แม่ได้รับการต้อนรับสู่อ้อมแขนของพระเยซู” แต่ในบางวันฉันยังรู้สึกเศร้าเมื่อดูรูปครอบครัวในปัจจุบันที่ไม่มีแม่อยู่ด้วย กระนั้นเมื่อไม่นานมานี้ฉันพบจิตรกรคนหนึ่งที่สร้างสรรค์ภาพครอบครัวโดยรวมผู้ที่เราสูญเสียไว้ในภาพ ศิลปินใช้รูปของคนที่คุณรักซึ่งจากไปแล้วและวาดภาพพวกเขาไว้ในภาพครอบครัว ด้วยฝีแปรงจากปลายพู่กันศิลปินได้แสดงให้เห็นถึงพระสัญญาของพระเจ้าเรื่องการพบกันอีกในสวรรค์ ฉันหลั่งน้ำตาด้วยความปีติเมื่อคิดถึงการได้เห็นแม่ยิ้มอยู่เคียงข้างฉันอีกครั้ง

อัครทูตเปาโลยืนยันว่าผู้เชื่อในพระเยซูไม่ต้องเป็นทุกข์โศกเศร้า “อย่างคนอื่นๆ” (1 ธส.4:13) “เพราะในเมื่อเราเชื่อว่าพระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ และทรงคืนพระชนม์แล้ว โดยพระเยซูนั้นพระเจ้าจะทรงนำบรรดาคนที่ล่วงหลับไปแล้วนั้นมากับพระองค์” (ข้อ 14) ท่านรับรองการเสด็จมาครั้งที่สองและประกาศว่าผู้เชื่อทุกคนจะพบกับพระเยซูอีก (ข้อ 17)

พระสัญญาของพระเจ้าถึงการพบกันอีกในสวรรค์ช่วยปลอบโยนเราได้ เมื่อเราทุกข์โศกกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักผู้ซึ่งวางใจในพระเยซู พระสัญญาถึงอนาคตที่เราจะได้อยู่กับองค์กษัตริย์ผู้ฟื้นพระชนม์ยังได้ให้ความหวังอันถาวรเป็นนิตย์เมื่อเราได้เผชิญกับความเป็นอมตะของเรา จนกว่าจะถึงวันที่พระเยซูเสด็จมาหรือทรงเรียกเรากลับบ้าน

สร้างบ้าน

โครงการก่อสร้างบ้านส่วนตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นในปี 1889 มีการผลิตอิฐในพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 32,000 ก้อนต่อวัน งานยังคงดำเนินไปจน “บ้านฤดูร้อน” ของจอร์จ แวนเดอร์บิลต์ที่ 2 เสร็จสิ้นในอีกหกปีต่อมา นั่นคือคฤหาสน์บิลต์มอร์ในเมืองแอชวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปัจจุบันบ้านนี้ยังคงเป็นที่พักอาศัยส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาด้วยจำนวน 250 ห้อง (รวมห้องนอน 35 ห้องและห้องน้ำ 43 ห้อง) ซึ่งกินพื้นที่อย่างน่าตกตะลึงถึง 178,926 ตารางฟุต (16,226 ตารางเมตร)

โครงการนี้ซึ่งยิ่งใหญ่อย่างที่มันเป็น แต่ยังเทียบไม่ได้กับพระประสงค์ในการสร้าง “ตึก” ที่พระเยซูตรัสกับสาวกในมัทธิว 16 เมื่อเปโตรยืนยันว่าพระเยซูทรงเป็น “พระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่” (ข้อ 16) พระองค์ตรัสว่า “ฝ่ายเราบอกท่านว่าท่านคือเปโตร และบนศิลานี้ เราจะสร้างคริสตจักรของเราไว้ และพลังแห่งความตายจะมีชัยต่อคริสตจักรนั้นหามิได้” (ข้อ 18) ขณะที่นักศาสนศาสตร์ถกเถียงถึงความหมายของ “ศิลา” แต่ไม่มีการถกเถียงเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเยซู พระองค์จะสร้างคริสตจักรของพระองค์ให้ขยายไปยังสุดปลายแผ่นดินโลก (มธ.28:19-20) ไปยังชนทุกชาติ ทุกเชื้อสายจากทั่วโลก (วว.5:9)

ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับโครงการนี้คือ พระโลหิตของพระเยซูที่สละลงบนกางเขน (กจ.20:28) เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ตึก” นั้น (อฟ.2:21) ซึ่งพระองค์ได้ทรงจ่ายด้วยราคาที่สูงยิ่ง ขอให้เราเฉลิมฉลองการทรงเสียสละด้วยความรักและร่วมกับพระองค์ในพันธกิจอันยิ่งใหญ่นี้

พบที่กำบัง

ผมกับภรรยาเคยพักในโรงแรมเก่าแก่น่ารักริมทะเลที่มีหน้าต่างบานใหญ่และกำแพงหินหนา บ่ายวันหนึ่งพายุพัดผ่านเข้ามา ทำให้ทะเลปั่นป่วนและกระแทกหน้าต่างของเราราวกับถูกทุบด้วยกำปั้นอันโกรธเกรี้ยว แต่กระนั้นเรากลับรู้สึกสุขสงบ กำแพงพวกนั้นแข็งแกร่งและรากฐานของโรงแรมก็มั่นคง! ขณะที่พายุโหมกระหน่ำอยู่ภายนอก ห้องพักของเราคือที่กำบัง

ที่กำบังเป็นหัวข้อสำคัญในพระคัมภีร์ ที่เริ่มต้นโดยพระเจ้าเอง “พระองค์ได้ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งของคนยากจน” อิสยาห์กล่าวถึงพระเจ้าว่า “ทรงเป็นที่กำบังเข้มแข็งของคนขัดสนเมื่อเขาทุกข์ใจ ทรงเป็นที่กำบังจากพายุ” (อสย.25:4) นอกจากนี้ที่กำบังคือสิ่งซึ่งคนของพระเจ้าเป็นและต้องจัดเตรียม ไม่ว่าจะโดยผ่านทางเมืองโบราณซึ่งเป็นเมืองลี้ภัยของอิสราเอล (กดว.35:6) หรือโดยการต้อนรับ “คนต่างด้าว” ที่ต้องการความช่วยเหลือ (ฉธบ.10:19) เราสามารถนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้ในปัจจุบันเมื่อวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมโจมตีโลกของเรา ในเวลาเช่นนั้นให้เราทูลขอพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่กำบังที่จะทรงใช้เราซึ่งเป็นคนของพระองค์ ในการช่วยผู้อ่อนแอให้ได้รับความปลอดภัย

พายุที่พัดถล่มโรงแรมของเราจากไปในเช้าวันรุ่งขึ้น ทิ้งเราไว้กับทะเลที่สงบและแสงแดดอันอบอุ่นที่สาดส่องให้นกนางนวลดูเปล่งประกาย เป็นภาพที่ผมยึดไว้เมื่อนึกถึงคนที่เผชิญภัยธรรมชาติหรือหนีจากระบอบของ “ผู้ที่ทารุณ” (อสย.25:4) นั่นคือพระเจ้าผู้ทรงเป็นที่กำบังจะเสริมกำลังเราเพื่อจะช่วยพวกเขาให้พบความปลอดภัยในวันนี้และมีวันพรุ่งนี้ที่สดใส

ช่องโหว่ในกำแพง

มีบางอย่างกัดกินดอกไม้ของฉัน เมื่อวันก่อนมันผลิดอกชูช่ออย่างภาคภูมิ แต่เวลานี้เป็นกิ่งก้านที่ไร้ดอก ฉันเดินตรวจตรารอบสนามและพบรูโหว่ขนาดเท่าตัวกระต่ายที่รั้วไม้ กระต่ายเป็นสัตว์ที่น่ารัก แต่เจ้าสัตว์ที่ก่อกวนนี้ทำลายดอกไม้ทั้งสวนได้ภายในไม่กี่นาที

ฉันสงสัยว่าอาจมี “ผู้บุกรุก” ที่กำลังตัดดอกไม้แห่งพระลักษณะของพระเจ้าในชีวิตของฉันออกไปหรือไม่ สุภาษิต 25:28 กล่าวว่า “คนที่ปราศจากการปกครองตนเองก็เหมือนเมืองที่ปรักหักพังและไม่มีกำแพง” ในสมัยโบราณกำแพงเมืองป้องกันการรุกรานจากศัตรู แม้เพียงช่องเล็กๆในกำแพงก็หมายถึงว่าทั้งเมืองถูกเปิดให้โจมตี

มีคำสุภาษิตมากมายที่เป็นเรื่องของการรู้จักบังคับตน ผู้มีปัญญาได้บันทึกไว้ว่า “ถ้าเจ้าพบน้ำผึ้ง จงกินแต่พอดี” (25:16) การรู้จักบังคับตนเป็นผลของพระวิญญาณที่ป้องกันเรา ปกป้องเราไม่ให้พ่ายแพ้ต่อการขาดความอดทน ความขมขื่น ความโลภ และศัตรูอื่นๆที่สามารถบุกเข้ามาและทำลายการเก็บเกี่ยวของพระเจ้าในชีวิตเรา (ดู กท.5:22-23) การรู้จักบังคับตนคือความเข้มแข็งของจิตใจที่เฝ้าระวังช่องโหว่ในกำแพงแห่งชีวิตของเราและคอยอุดช่องโหว่นั้น

เมื่อฉันสำรวจชีวิตโดยรอบ บางครั้งก็เห็นช่องโหว่ที่จะถูกโจมตีได้ เป็นจุดบกพร่องที่ฉันยอมต่อการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นจุดที่ฉันขาดความอดทน โอชีวิตของฉันต้องการการปกครองจิตใจตนเองอย่างเข้มแข็งจากพระเจ้ามากเหลือเกิน เพื่อจะป้องกันฉันจากผู้บุกรุกเหล่านั้น!

บทเรียนจากเลโก้

ในแต่ละปีตัวต่อเลโก้ขายได้เฉลี่ยต่อจำนวนประชากรทั่วโลกประมาณสิบชิ้นต่อคน นั่นหมายถึงพลาสติกชิ้นเล็กๆกว่าเจ็ดหมื่นห้าพันล้านชิ้น แต่ถ้าไม่ใช่เพราะความอุตสาหะของโอเล เคิร์ก คริสเตียนเซ่นผู้ผลิตของเล่นชาวเดนมาร์ก ก็คงจะไม่มีเลโก้มาให้ประกอบเล่นกัน

คริสเตียนเซ่นทำงานหนักในเมืองบิลลันด์ ประเทศเดนมาร์กเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนที่จะสร้างบริษัท เลคก็อต (Leg Godt) ซึ่งแปลว่า “เล่นดี” โรงงานของเขาถูกไฟไหม้เสียหายสองครั้ง เขาต้องอดทนกับภาวะล้มละลายและสงครามโลกที่ทำให้ขาดแคลนวัสดุ ในที่สุดช่วงปลายทศวรรษ 1940 เขาได้แนวคิดเรื่องชิ้นพลาสติกที่ล็อกตัวเองได้ เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1958 เลโก้ก็กลายเป็นคำติดปากของคนทั่วไปแล้ว

การอดทนต่อสิ่งท้าทายในชีวิตและการงานอาจเป็นเรื่องยาก นั่นเป็นความจริงในชีวิตฝ่ายวิญญาณของเราด้วยเมื่อเราเพียรพยายามที่จะเติบโตเป็นเหมือนพระเยซูมากขึ้น ปัญหาโจมตีเราและเราต้องการกำลังจากพระเจ้าที่จะอดทน ยากอบบันทึกว่า “คนที่อดทนต่อการทดลองใจก็เป็นสุข” (ยก.1:12) บางครั้งการทดลองที่เราเผชิญทำให้ความสัมพันธ์ การเงินหรือสุขภาพหยุดชะงัก บางครั้งก็เป็นการทดลองที่ทำให้เราล่าช้าต่อเป้าหมายที่จะถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยชีวิตเรา

แต่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานปัญญาในเวลาเช่นนั้น (ข้อ 5) และทรงขอให้เราไว้วางใจในพระองค์ว่าจะทรงประทานสิ่งที่เราต้องการ (ข้อ 6) โดยทั้งหมดนี้เมื่อเรายอมให้พระองค์ทรงช่วยเราที่จะยืนหยัดในการถวายเกียรติพระองค์ด้วยชีวิตของเรา เราก็จะได้พบกับพระพรที่แท้จริง (ข้อ 12)

ค้นพบอีกครั้ง

ในปี 1970 ผู้บริหารด้านรถยนต์ที่มาเยือนเดนมาร์กรู้ว่ารถบิวอิคก์รุ่นฝาครอบคู่ปี 1939 คันหนึ่งมีคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เนื่องจากรถยนต์คันนี้ไม่เคยเข้าสู่กระบวนการผลิตจริงๆ จึงจัดเป็นรถหายากคือเป็นรถที่ไม่ซ้ำแบบใคร ด้วยความดีใจในการค้นพบนี้ ผู้บริหารคนนี้จึงซื้อรถไว้และสละเวลาและเงินในการซ่อมแซม ปัจจุบันรถยนต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคันนี้อยู่ในคอลเล็กชั่นของสะสมรถคลาสสิกที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ทรัพย์สมบัติที่ซ่อนอยู่นั้นมีได้ในหลายรูปแบบ และในพระธรรม 2 พงศาวดารเราอ่านถึงการค้นพบทรัพย์สมบัติที่สูญหายไป ในปีที่ 18 แห่งการครองราชย์เป็นกษัตริย์ในยูดาห์ โยสิยาห์ทรงเริ่มซ่อมแซมพระนิเวศในกรุงเยรูซาเล็ม ระหว่างดำเนินการนั้น ฮิลคียาห์ปุโรหิตได้พบ “หนังสือธรรมบัญญัติในพระนิเวศ” (2 พศด.34:15) หนังสือธรรมบัญญัติคือพระธรรมห้าเล่มแรกในพันธสัญญาเดิม ดูเหมือนว่าถูกซ่อนไว้เมื่อหลายทศวรรษก่อน เพื่อเก็บรักษาให้ปลอดภัยจากกองทัพที่รุกราน พอเวลาผ่านไปจึงถูกลืม

เมื่อกษัตริย์โยสิยาห์ทราบเรื่องการค้นพบนี้ พระองค์ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งที่พบ จึงรับสั่งให้รวบรวมประชาชนทั้งหมด และทรงอ่านถ้อยคำทั้งสิ้นในหนังสือธรรมบัญญัติ เพื่อพวกเขาจะอุทิศตนที่จะรักษาทุกสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือนั้น (ข้อ 30-31)

ในปัจจุบันเรื่องนี้ยังคงสำคัญต่อชีวิตเรา เรามีพระพรอัศจรรย์ในการเข้าถึงพระธรรมทั้ง 66 เล่มในพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าอย่างที่สุด

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป นั่นเป็นการแสดงว่าท่านยอมรับ นโยบายการใช้คุกกี้ของเรา